ข้อบังคับสมาคมแห่งวิทยาลัยการทัพบก
(ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.๒๕๖๓)
หมวดที่ ๑ ความทั่วไป
๑. สมาคมนี้มีชื่อว่า “สมาคมแห่งวิทยาลัยการทัพบก”มีชื่อย่อว่า “สวทบ.” เขียนและเรียกชื่อเป็นภาษาอังกฤษว่า
“Association of Royal Thai Army War College” มีชื่อย่อภาษาอังกฤษว่า ARTAWC และในข้อบังคับนี้จะเรียกว่า สมาคม

๒. เครื่องหมายของสมาคม เป็นรูปวงกลมมีตรา วทบ. (เข็มแสนยาธิปัตย์) ตรงกลางโดย มีภาษาบาลี นตฺถิปญฺญาสมาอาภา ประกอบด้านล่าง ชื่อสมาคมภาษาไทยอยู่ด้านบน ด้านล่างเป็นชื่อภาษาอังกฤษ ขนาดตัวอักษรเท่ากัน ดังที่ปรากฏตามแบบที่ให้ไว้ในสมุดข้อบังคับนี้
๓. สำนักงานของสมาคม ตั้งอยู่ ณ เลขที่ ๕๕ ถนนเทิดดำริห์ แขวงถนนนครไชยศรี เขตดุสิต กรุงเทพมหานคร ๑๐๓๐๐
หมวดที่ ๒ วัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์ของสมาคม มีดังนี้
๑. ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมทางการบริหารงานกองทัพ ภาครัฐ และภาคเอกชนอย่างต่อเนื่อง
๒. ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินกิจการทางวิชาการที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงหรือด้านยุทธศาสตร์ของวิทยาลัยการทัพบกประจำปีอย่างต่อเนื่อง
๓. จัดให้มีงานสายสัมพันธ์ระหว่างมวลสมาชิกของสมาคม กับบุคคล สถาบัน และหน่วยงานอื่นๆประจำปีอย่างต่อเนื่อง
๔. ประกาศยกย่องเชิดชูบุคคลหรือองค์กรที่มีผลงานดีเด่นตามวัตถุประสงค์ของสมาคมประจำปี
๕. สมาคมไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด
หมวดที่ ๓ สมาชิกและสมาชิกสภาพ
๑. ประเภทสมาชิก สมาชิกของสมาคมมีสามประเภทคือ
๑.๑ สมาชิกสามัญ ได้แก่ บุคคลที่เข้ารับการศึกษาจากหลักสูตร วิทยาลัยการทัพบก ทั้งที่อยู่ในระหว่างการศึกษาและจบการศึกษาแล้ว
๑.๒. สมาชิกวิสามัญได้แก่ ผู้บังคับบัญชา อาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ที่ปฏิบัติในวิทยาลัยการทัพบกเกิน ๖ เดือน
๑.๓. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการเชิญให้เป็นสมาชิกและผู้นั้นตอบรับคำเชิญ
๑.๔. สมาชิกสมทบ ได้แก่ ผู้ที่สำเร็จการอบรมในหลักสูตรอื่นๆของวิทยาลัยการทัพบก หรือของสถาบันการศึกษาของภาครัฐอื่นๆ
๒. การสมัครเข้าเป็นสมาชิก ให้ผู้ที่ประสงค์จะสมัครเข้าเป็นสมาชิก ยื่นใบสมัครตามแบบของสมาคมต่อเลขาธิการโดยมีสมาชิกสามัญรับรองอย่างน้อย 1 คน และให้เลขาธิการเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาอนุมัติว่าจะรับหรือไม่รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคม และเมื่อคณะกรรมการพิจารณาผลเป็นประการใด ให้เลขาธิการแจ้งให้ผู้สมัครทราบโดยเร็ว และสมาชิกสภาพของผู้สมัครให้เริ่มนับตั้งแต่วันที่ผู้สมัครได้ชำระค่าบำรุงสมาคมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
๓. การพ้นจากสมาชิกภาพสมาชิกภาพย่อมสิ้นสุดลงเมื่อ
๓.๑. ตาย
๓.๒.ลาออก
๓.๓.ที่ประชุมใหญ่มีมติให้พ้นจากสมาชิกภาพ
๔. ทะเบียนสมาชิก ให้นายทะเบียนจัดทำทะเบียนสมาชิก เก็บไว้ ณ สำนักงานของสมาคม
หมวดที่ ๔ สิทธิและหน้าที่ของสมาชิก
สิทธิของสมาชิก
๑. ได้รับสิทธิ์ในเรื่องเกี่ยวกับกิจการซึ่งระบุในวัตถุประสงค์ของสมาคม
๒. เสนอความคิดเห็นหรือให้คำแนะนำต่อสมาคม หรือคณะกรรมการเพื่อนำมาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองของสมาคมและสังคมโดยส่วนรวม
๓. เข้าร่วมประชุมอภิปรายแสดงความคิดเห็น ซักถามกรรมการเสนอญัตติในการประชุมใหญ่สามัญหรือวิสามัญ
๔. สมาชิกสามัญ มีสิทธิ์ในการเลือกตั้ง หรือได้รับการเลือกตั้ง หรือแต่งตั้งเป็นกรรมการ และมีสิทธิออกเสียงลงมติต่างๆในที่ประชุมได้คนละ ๑ คะแนน
๕. ตัวแทนสมาชิกสามัญในแต่ละรุ่นมีสิทธิ์เข้า ชื่อร่วมกันอย่างน้อย ๑๐ รุ่นของสมาชิกสามัญทั้งหมดร้องขอต่อคณะกรรมการให้จัดประชุมใหญ่วิสามัญได้
๖. สมาชิกสามัญจำนวนไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของกรรมการขอตรวจสอบกิจการและทรัพย์สินของสมาคมได้โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อเลขาธิการหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนเลขาธิการไม่เกินปีละ ๒ ครั้ง
๗. มีสิทธิ์ประดับเครื่องหมายของสมาคม
หน้าที่ของสมาชิก
๑. ปฏิบัติตามข้อบังคับและระเบียบของสมาคม มติของที่ประชุมใหญ่ มติของคณะกรรมการและหน้าที่ซึ่งตนได้รับมอบหมายจากสมาคม ด้วยความซื่อสัตย์โดยเคร่งครัด
๒. ดำรงรักษาเกียรติและผลประโยชน์ส่วนได้ส่วนเสียของสมาคม ไม่เปิดเผยข้อความซึ่งอาจจะนำความเสื่อมเสียมาสู่สมาคม
๓. ส่งเสริมและสนับสนุนกิจการของสมาคมให้เจริญรุ่งเรืองและมีความก้าวหน้า
๔. รักษาไว้ซึ่งสามัคคีธรรมและไมตรีจิตระหว่างสมาชิกและช่วยเหลือกันด้วยความซื่อสัตย์และเต็มใจ
๕. ถ้าเปลี่ยนชื่อ ชื่อสกุล ยศ ตำแหน่ง สัญชาติ ย้ายที่อยู่ ย้ายที่ตั้งสำนักงาน จะต้องแจ้งให้เลขาธิการทราบเป็นหนังสือ ภายในกำหนดเวลา ๓๐ วันนับแต่เปลี่ยนแปลง
หมวดที่ ๕ ค่าบำรุงสมาคม
๑. สมาชิกสามัญชำระค่าบำรุงครั้งเดียวตลอดชีพจำนวน ๑,๐๐๐ บาท (หนึ่งพันบาทถ้วน) ภายใน ๓๐ วันเมื่อได้รับแจ้งจากเลขาธิการว่า คณะกรรมการพิจารณาอนุมัติให้รับเข้าเป็นสมาชิกของสมาคมฯ
๒. สมาชิกวิสามัญ เมื่อมีความประสงค์ที่จะเปลี่ยนแปลงสถานภาพเป็นสมาชิกสามัญ การชำระค่าบำรุงเช่นเดียวกับสมาชิกสามัญ
๓. สมาชิกกิตติมศักดิ์ ไม่ต้องชำระค่าบำรุง
๔. สมาชิกสมทบ ชำระค่าบำรุง จำนวน ๑,๕๐๐ บาท (หนึ่งพันห้าร้อยบาทถ้วน) ต่อปี ตลอดชีพ ๓,๐๐๐ (สามพันบาทถ้วน)
หมวดที่ ๖ คณะกรรมการ
๑. ให้มีคณะกรรมการขึ้นคณะหนึ่งเป็นผู้บริหารงานให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของสมาคมประกอบด้วย สมาชิกสามัญ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากที่ประชุมใหญ่ เป็นกรรมการอย่างน้อย ๓ คนให้ที่ประชุมใหญ่เลือกผู้ดำรงตำแหน่งนายกสมาคม ๑ คน เลขาธิการ ๑ คน นายทะเบียน ๑ คนจากกรรมการที่เป็นสมาชิกสามัญตามวรรคหนึ่ง และให้นายกสมาคมแต่งตั้งกรรมการดำรงตำแหน่งอุปนายก เหรัญญิก และตำแหน่งอื่นๆตามความเหมาะสม คณะกรรมการมีวาระอยู่ในตำแหน่งคราวละสองปี เมื่อครบวาระแล้ว จะรับเลือกกลับเข้ามาดำรงตำแหน่งอีกได้ แต่ไม่เกินสองวาระ (จำนวน ๔ ปี) หากเกินสองวาระให้มีการเว้นวรรค ๑ ปี
๒. การพ้นจากตำแหน่งกรรมการกรรมการย่อมพ้นจากตำแหน่งในกรณีดังต่อไปนี้
๒.๑. ครบกำหนดตามวาระ
๒.๒. ลาออก
๒.๓. พ้นจากสมาชิกภาพ
๒.๓. ที่ประชุมใหญ่มีมติให้ถอดออกจากการเป็นกรรมการ
๓. กรณีที่ กรรมการพ้นจากตำแหน่งกรรมการก่อนครบกำหนดตามวาระ นายกสมาคมฯอาจตั้งสมาชิกสามัญคนใดคนหนึ่งให้เป็นกรรมการแทนได้ แต่กรรมการที่ได้รับแต่งตั้งแทนนี้ ให้เป็นกรรมการอยู่ได้ตามวาระของผู้ที่ตนแทน กรณีที่คณะกรรมการพ้นจากตำแหน่งทั้งคณะก่อนครบกำหนดตามวาระให้คณะกรรมการ ซึ่งพ้นจากตำแหน่งดำเนินการจัดประชุมใหญ่ เพื่อเลือกตั้งคณะกรรมการชุดใหม่
๔. การประชุมของคณะกรรมการ องค์ประชุมกรรมการประกอบด้วยกรรมการมาประชุมไม่น้อยกว่า กึ่งหนึ่งของคณะกรรมการถือว่าครบองค์ประชุม
๕. มติของที่ประชุมคณะกรรมการ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมาก กรรมการคนหนึ่งมีเสียง ๑ เสียงในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากัน ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนเสียงอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
๖. ประธานในที่ประชุมให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ให้นายกสมาคมแต่งตั้งกรรมการท่านใดท่านหนึ่ง เป็นประธานในการประชุมคราวนั้น
๗. การประชุมคณะกรรมการให้มีการประชุมคณะกรรมการอย่างน้อย ๖ เดือนต่อครั้ง อนึ่งในกรณีจำเป็น นายกสมาคมหรือกรรมการผู้ทำหน้าที่แทนหรือกรรมการรวมกันไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่ง จะเรียกประชุมขึ้นก็ได้
๘. การเข้ารับหน้าที่ของคณะกรรมการ เมื่อมีการเลือกตั้ง คณะกรรมการชุดใหม่ให้คณะกรรมการซึ่งพ้นจากตำแหน่งส่งมอบหน้าที่ให้แก่คณะกรรมการชุดใหม่ภายใน ๒๐ วันนับจากวันที่มีการเลือกตั้งกรรมการชุดใหม่
๙. อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการมีดังนี้
๙.๑.ดำเนินการบริหารกิจการของสมาคมให้เป็นไปตาม ข้อบังคับ ระเบียบ และมติของที่ประชุมใหญ่
๙.๒.ตั้งบุคคลหรือคณะอนุกรรมการให้ทำหน้าที่ตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
๙.๓.วางระเบียบในการปฏิบัติงานของสมาคมให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์
อำนาจหน้าที่ของกรรมการตำแหน่งต่างๆมีดังนี้
๑. นายกสมาคม มีหน้าที่อำนวยการเพื่อให้ดำเนินงานของสมาคมเป็นไปตามข้อบังคับและระเบียบในการปฏิบัติงานของสมาคมและมีอำนาจออกระเบียบและคำสั่งต่างๆตามข้อบังคับและตามมติของคณะกรรมการเป็นผู้แทนของสมาคมในกิจการอันเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ตลอดจนการทำนิติกรรมต่างๆแทนสมาคมและเป็นประธานใน ที่ประชุมคณะกรรมการสมาคม ตลอดจนในที่ประชุมใหญ่
๒. อุปนายก มีหน้าที่เป็นผู้ช่วยเหลือนายกสมาคมในกิจการทั้งปวงอันอยู่ในอำนาจหน้าที่ของนายกสมาคมและผู้ทำหน้าที่แทนนายกสมาคม เมื่อนายกสมาคมไม่อยู่ หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้
๓. เลขาธิการ มีหน้าที่ทำการโต้ตอบหนังสือ ควบคุมรักษาสมุด ทะเบียน ดวงตรา และสรรพเอกสารต่างๆของสมาคม และดำเนินการเกี่ยวกับการนัดประชุมกำหนดวาระประชุม จดบันทึก และเก็บรักษารายงานการประชุมและเป็นเลขานุการในการประชุมกรรมการและการประชุมใหญ่ การจัดทำรายงานประจำปีควบคุมบังคับบัญชา บรรจุแต่งตั้งลงโทษพนักงานเจ้าหน้าที่ของสมาคมและดำเนินการทั้งหลายที่มิใช่หน้าที่ของกรรมการอื่นโดยเฉพาะ ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆ ตามที่นายกสมาคมหรือคณะกรรมการมอบหมาย
๔. เหรัญญิกมีหน้าที่รักษาและจ่ายเงินของสมาคม ทำบัญชีการเงิน เก็บรักษาและจ่ายพัสดุของสมาคมตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นๆตามที่คณะกรรมการมอบหมาย
๕. นายทะเบียน มีหน้าที่เกี่ยวกับการจัดทำทะเบียนสมาชิก และทะเบียนต่างๆ อันมิใช่ทะเบียนเกี่ยวกับการเงินของสมาคม ตลอดจนปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่นายกสมาคมมอบหมาย
หมวดที่ ๗ การประชุมใหญ่
๑. ให้คณะกรรมการจัดให้มีการประชุมใหญ่สามัญอย่างน้อยปีละ ๑ ครั้งภายในไตรมาสแรกของปีปฏิทิน
๒. การส่งหนังสือบอกกล่าวนัดประชุม ให้เลขาธิการทำหนังสือแจ้ง วัน เวลา สถานที่ วาระการประชุม และหนังสือตอบรับไปให้สมาชิกทุกคนได้ทราบเป็นลายลักษณ์อักษรทางไปรษณีย์ ณ ที่อยู่ของสมาชิกที่ปรากฏอยู่ในทะเบียน หรือส่งให้ถึงตัวก่อนกำหนดวันประชุมใหญ่ หรือทางจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ ไม่น้อยกว่า ๗ วัน การจัดส่งหนังสือบอกกล่าวตามวรรคแรก ให้ส่งสำเนาบันทึกรายงานการประชุมใหญ่ครั้งที่แล้วไปด้วย ในกรณีที่เป็นการนัดประชุมใหญ่สามัญประจำปี จะต้องแนบสำเนารายงานประจำปี และสำเนางบดุล รวมทั้งสำเนาบัญชี รายรับ-รายจ่าย ซึ่งผู้สอบบัญชีได้ตรวจสอบแล้ว เพิ่มเติมไปด้วย
๓. องค์ประชุมในการประชุมใหญ่ องค์ประชุมประกอบด้วยสมาชิกสามัญไม่น้อยกว่า ๘ รุ่นโดยตัวแทน ๑ ท่านต่อ ๑ รุ่น
๔. ให้นายกสมาคมเป็นประธานในที่ประชุม ถ้านายกสมาคมไม่อยู่หรือไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกสมาคมฯแต่งตั้งกรรมการท่านใดท่านหนึ่งทำหน้าที่แทน
๕. วิธีออกเสียงลงคะแนนในที่ประชุมใหญ่ สมาชิกสามัญเท่านั้นที่มีสิทธิ์ออกเสียงลงคะแนน และสมาชิกสามัญแต่ละรายมีคะแนนเสียง ๑ เสียงในการประชุม ข้อมติเสนอให้ลงคะแนนให้ตัดสินด้วยวิธีการชูมือหรือวิธีการอื่นใดอันเป็นการเปิดเผยว่าสมาชิกใดลงคะแนนเช่นไร เว้นแต่เมื่อก่อนหรือในเวลาที่แสดงผลแห่งการชูมือนั้น คณะกรรมการเห็นสมควรหรือได้มีสมาชิกสามัญ ๕ คนเป็นอย่างน้อยร้องขอให้ลงคะแนนลับ
๖. มติของที่ประชุมใหญ่ นอกจากที่กล่าวไว้เป็นอย่างอื่นในข้อบังคับนี้ ให้ถือเอาคะแนนเสียงข้างมากเป็นมติของที่ประชุมใหญ่ ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันจะเป็นการจูงมือก็ดี การลงคะแนนลับก็ดี หรือด้วยวิธีการอื่นใดก็ดี ให้ผู้เป็นประธานในที่ประชุมมีคะแนนอีกหนึ่งเสียงเป็นเสียงชี้ขาด
๗. กิจกรรมอันพึงกระทำในการประชุม มีดังนี้
๗.๑. รับรองรายงานการประชุมใหญ่ครั้งก่อน
๗.๒. พิจารณารายงานประจำปีซึ่งแสดงผลดำเนินการของสมาคมที่ผ่านมาในรอบปี
๗.๓. พิจารณาอนุมัติงบดุล
๗.๔. เลือกตั้งคณะกรรมการ (ในปีที่ครบวาระ)
๗.๕. การเลือกตั้งผู้ตรวจสอบบัญชีและกำหนดค่าตอบแทน
๘. การจัดทำรายงาน บันทึกการประชุม รายงานการประชุมคณะกรรมการการประชุมใหญ่ การประชุมสมาชิกอื่น และการประชุมอนุกรรมการ ให้จดบันทึกไว้ทุกครั้งและต้องเสนอต่อที่ประชุม เพื่อรับรองในคราวที่มีการประชุมครั้งต่อไป รายงานการประชุมที่ผ่านการรับรองแล้วสมาชิกจะดูได้ในวันและเวลาทำการ ณ สำนักงานสมาคม
หมวดที่ ๘ การเงินเงินทุนพิเศษและการบัญชีของสมาคม
๑. ให้ถือเอาวันที่ ๓๑ ธันวาคมของทุกปีเป็นวันสิ้นปีทางบัญชีของสมาคม
๒.ให้คณะกรรมการจัดทำงบการเงินที่เป็นอยู่ ณ วันสิ้นปีทางบัญชีนั้น แล้วส่งให้ผู้สอบบัญชีไม่เกินเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี เพื่อให้ผู้สอบบัญชีทำการตรวจสอบและรับรองงบดุล ซึ่งผู้สอบบัญชีที่ได้รับรองแล้ว คณะกรรมการต้องดำเนินการเสนอต่อที่ประชุมใหญ่สามัญ ให้เก็บรักษารายงานประจำปี และงบดุลไว้ที่สำนักงานของสมาคม เพื่อให้สมาชิกขอตรวจดูได้
๓. ผู้สอบบัญชีมีอำนาจเข้าตรวจสอบสมุดบัญชีและบรรดาเอกสารที่เกี่ยวกับการเงินของสมาคม และมีสิทธิสอบถามกรรมการ ตลอดจนเจ้าหน้าที่ของสมาคมทุกคนที่ มีส่วนเกี่ยวข้องกับบัญชีและเอกสารดังกล่าว ในการนี้กรรมการและเจ้าหน้าที่จะต้องช่วยเหลือ และให้ความสะดวกทุกประการ เพื่อการตรวจสอบเช่นว่านั้น
๔. การเก็บรักษาสมุดบัญชีและเอกสารการเงิน เหรัญญิกจะต้องเก็บรักษาและดูแลรับผิดชอบสมุดบัญชีและเอกสารการเงิน
๕. การเงินของสมาคมเงินสดของสมาคมจะต้องนำฝากไว้ ณ ธนาคารพาณิชย์แห่งใดแห่งหนึ่งโดยความเห็นชอบของที่ประชุม
๕.๑. ในกรณีที่ต้องใช้เงินสดย่อย หรือเงินทดรองจ่ายสำหรับโครงการ ให้คณะกรรมการพิจารณาเป็นครั้งไป
๕.๒. โครงการ ฯลฯ ฝึกอบรม กิจกรรม หารายได้ อื่นๆ ที่ได้ดำเนินการในนามของสมาคม สมาคมจะขอเก็บค่าสร้างเสริมความเข้มแข็งขององค์กร ในอัตราร้อยละ ๕ ของยอดเงินที่ได้รับจากโครงการ ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร และไม่ขัดต่อกฎหมาย
๖. การลงนามเบิกเงินกับธนาคารพาณิชย์ ให้ลงนามโดยนายกสมาคมฯ และ เลขาธิการสมาคมฯ
๗. การจ่ายเงินของสมาคมให้บุคคลต่อไปนี้มีอำนาจอนุมัติสั่งจ่ายเงินของสมาคม
๗.๑. นายกสมาคมครั้งละไม่เกิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท
๗.๒. เลขาธิการสามารถจ่ายค่าใช้จ่ายประจำเช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่ารับรองได้ครั้งละไม่เกิน ๓๐,๐๐๐ บาท
๗.๓. การจ่ายเงินที่มีจำนวนครั้งละเกินกว่า ๕๐๐,๐๐๐ บาทจะต้องได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการทุกครั้ง
๗.๔. การเบิก-จ่ายเงินนอกเหนือจากที่กล่าวมาข้อ ๗.๑-๗.๓ ให้อยู่ในมติจากคณะกรรมการ
หมวดที่ ๙ การแก้ไขข้อบังคับการเลิกสมาคม
๑. การแก้ไขเปลี่ยนแปลงตัดทอนหรือเพิ่มเติมข้อบังคับ จะกระทำได้โดยมติของที่ประชุมใหญ่ ซึ่งมีคะแนนเสียงไม่น้อยกว่า ๒ ใน ๓ ของจำนวนสมาชิกสามัญที่มาประชุม
๒. การเลิกสมาคม สมาคมนี้อาจเลือกได้ด้วยเหตุหนึ่งเหตุใดดังนี้
๒.๑.เมื่อที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิกด้วยคะแนนเสียงไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกสามัญทั้งหมด
๒.๒. เลิกเพราะเหตุของกฎหมาย
๒.๓. เมื่อสมาคมต้องเลิกไม่ว่าด้วยเหตุผลใดก็ตาม ทรัพย์สินของสมาคมที่เหลืออยู่หลังจากชำระบัญชีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ให้มอบแก่วิทยาลัยการทัพบก หรือกองทัพบก
หมวดที่ ๑๐ บทเฉพาะกาล
๑. ขณะผู้ก่อตั้งทำการจัดตั้งสมาคมให้ถูกต้องตามกฎหมายจนได้รับการรับรองตามกฎหมายและ ให้เริ่มดำเนินกิจการต่างๆ ของสมาคมต่อไป
ลงชื่อ…สุวิทย์ ธรณิทร์พานิช … ผู้จัดทำข้อบังคับ